Issue 2: “ซีพี-บิ๊กซี”ส่งโมเดลใหม่ฮุบค้าปลีก “ขาใหญ่”เร่งเครื่องเติมช่องว่างเพิ่มอำนาจต่อรอง

26 08 2011

Week : 10

Sourcehttp://www.prachachat.net/

Date : 30 กรกฎาคม   พ.ศ. 2554

Strategy:  Strategies: Offensive strategy  (Direct Offensive)

NEWS:

              ค้าปลีกรายใหญ่ซุ่มเปิดสาขารูปแบบใหม่ หวังกินรวบตลาดทุกเซ็กเมนต์ “ซีพี” โดดร่วมวงซูเปอร์มาร์เก็ต เตรียมเปิด “ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต”กลางกรุง เซตทีมงานใหม่ดูแลเฉพาะ โฟกัสอาหารพร้อมปรุงพร้อมทานด้วยคอนเซ็ปต์ fresh full fun fast ด้าน “บิ๊กซี” เปิดศึกค้าส่ง “แม็คโคร” ส่ง “บิ๊กซี จัมโบ้” จับกลุ่มลูกค้าโฮเรก้า ดีเดย์เปิดสาขาแรกกลางเดือนสิงหาคมนี้ ที่พัทยาใต้

ความเคลื่อนไหวในธุรกิจค้าปลีกทวีความคึกคักและมีสีสันมากยิ่งขึ้น เมื่อรายใหญ่ ๆ อย่าง “ซีพี” และ “บิ๊กซี” ส่งค้าปลีกสาขารูปแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เพื่อกวาดลูกค้าให้ครบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งยังเป็นการปรับตัวรับกฎหมายผังเมือง ที่จำกัดการขยายตัวของค้าปลีกไซซ์ใหญ่

ซีพีแตกไลน์ “ซีพี มาร์เก็ต”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มซีพีเตรียมลงทุนครั้งใหม่ ด้วยการขยายธุรกิจ “ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต” (CP Food Market) ขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ เพื่อสอดรับกับกลุ่มลูกค้าและความต้องการของตลาดที่ครบและครอบคลุมมากขึ้น โดยจะเน้นที่กลุ่มสินค้าอาหารสด ในขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม คอนเซ็ปต์ “fresh full fun fast” เน้นจุดขายความสดใหม่ ครบครัน สะดวก และจับจ่ายเลือกซื้อด้วยความสนุกสนาน โดยจะเปิดสาขานำร่องแห่งแรกที่ตึก ซี.พี.ทาวเวอร์ 3 ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทยเดิม ที่สี่แยกพญาไท คาดว่าพร้อมจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในช่วงเดือนตุลาคมนี้

แหล่งข่าวจากบริษัทในเครือซีพีกล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา ซีพีได้ตั้งทีมงานใหม่เพื่อดูแลธุรกิจนี้โดยเฉพาะมาระยะหนึ่ง โดยรูปแบบร้านจะเน้นสไตล์ญี่ปุ่น ลักษณะใกล้เคียงกับวิลล่า มีอาหารพร้อมปรุง อาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน ประเภทเนื้อ หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ

ปัจจุบัน กลุ่มซีพีมีโมเดลธุรกิจค้าปลีกไซซ์เล็กอยู่แล้ว หลัก ๆ ได้แก่ร้านอิ่มสะดวกเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีอยู่ 6,000 สาขา และซีพี เฟรชมาร์ท ประมาณ 1,000 สาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสักประมาณ 12-13 ปีที่ผ่านมา ซีพีได้เคยเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตมาแล้วครั้งหนึ่ง ในชื่อของซันนี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีสาขา 5-6 สาขา แต่หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ก็ทยอย ปิดสาขาลง

บิ๊กซีส่ง “จัมโบ้” ชนแม็คโคร

ด้านโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ “บิ๊กซี” หลังจากที่ซื้อกิจการสาขาคาร์ฟูร์ในไทยทั้งหมด 42 สาขามาบริหารต่อ โดยในจำนวนนี้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 34 สาขา และส่วนใหญ่เปิดอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนสาขาคาร์ฟูร์มาเป็นบิ๊กซีแล้ว ก็มีการเปิดเป็นโมเดลใหม่ “เอ็กซ์ตร้า” ขึ้นมาใหม่ และล่าสุดได้เปิดโมเดลค้าส่ง ในชื่อ “บิ๊กซี จัมโบ้” ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าเดียวกันกับ “สยามแม็คโคร”

นายกุฏาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีแผนเปิดบิ๊กซี จัมโบ้ สาขาแรก ที่พัทยา (ใต้) ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ขณะที่สาขาต่อไปคือสำโรง โดยทั้ง 2 สาขา เดิมเป็นสาขาของคาร์ฟูร์ โดยการเปิดสาขาในรูปแบบจัมโบ้นี้ จะเน้นรีโนเวตสาขาเดิมที่มีอยู่ มากกว่าการเปิดสาขาใหม่ ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าเป็นลอตใหญ่ ทั้งลูกค้าผู้ประกอบการ โฮเรก้าได้แก่กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงลูกค้ารายย่อยที่เป็นครอบครัวใหญ่ ต้องการซื้อสินค้าราคาคุ้มค่า

“บริษัทจะพัฒนาสาขารูปแบบใหม่ไป เรื่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ เซ็กเมนเตชั่น หรือการมุ่งตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ครบทุกกลุ่ม สำหรับสาขารูปแบบใหม่อย่างจัมโบ้ ก็จะทยอยเปิดต่อไปในอนาคต แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดที่ใดบ้าง ต้องพิจารณาเรื่องโลเกชั่นต่อไป”

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดรูปแบบจัมโบ้ของบิ๊กซี นอกจากจะส่งผลดีแง่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ยังสามารถแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสาขาของ บิ๊กซีกับคาร์ฟูร์ที่รีโนเวตมาเป็นบิ๊กซี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน ประกอบกับการหาพื้นที่ ใหญ่ ๆ เริ่มทำได้ยากขึ้น เพราะติดเรื่องข้อกฎหมายผังเมือง บิ๊กซีจึงหันมารีโนเวตสาขาที่มีอยู่แทนการเปิดใหม่

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกรายหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมา การทำธุรกิจในลักษณะขายส่งให้กับร้านค้ารายย่อย เป็นสิ่งที่ค้าปลีกรายใหญ่ทำมาเป็นระยะ ๆ ในบางสาขาและกระทบกับซัพพลายเออร์โดยตรง แต่ช่วงหลังการขายส่งในลักษณะดังกล่าวมีน้อยลง

เพิ่มอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า การเข้ามาทำธุรกิจค้าส่งของบิ๊กซี เป็นการสร้างพาวเวอร์ของบริษัท หลังจากมีการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ทำให้มีช่องทาง ในการระบายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าจะเพิ่มอำนาจการต่อรองกับทางซัพพลายเออร์ได้มากขึ้นขณะเดียวกัน ธุรกิจนี้ก็มียังมีช่องว่าง เพราะมีเพียงแม็คโครอยู่เพียงรายเดียว

“ตลาดค้าปลีกเป็นการแข่งขันอย่างเสรี บรรดารายใหญ่ที่มีเงินทุนและกำลังที่เพียงพอ ก็ต้องการทำค้าปลีกในทุกเซ็กเมนต์อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเข้ามาของบิ๊กซี จะทำให้การแข่งขันในตลาดค้าส่งมีความตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ที่กระทบที่สุด คงเป็นแม็คโคร แต่สำหรับยี่ปั๊ว เชื่อว่าไม่มากนัก เนื่องจากราคาสามารถแข่งขันได้ มองในแง่ดี เชื่อว่าการเข้ามาของ บิ๊กซี จัมโบ้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับทางยี่ปั๊ว ซาปั๊วมีทางเลือกมากขึ้นในการหาสินค้าราคาถูกจำหน่ายให้กับลูกค้า

ก่อนหน้านี้ ขาใหญ่อย่าง “เทสโก้ โลตัส” ก็เพิ่งประกาศเปิดตัวสาขาไซซ์ใหญ่ “เอ็กซ์ตร้า” อัพเกรดด้วยสินค้าพรีเมี่ยม ขณะที่ “แม็กซ์แวลู” ชิมลางเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตไซซ์เล็กครั้งแรกในชื่อ “แม็กซ์แวลู ทันใจ”

จากผลวิจัยนีลเส็นระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่า 680,000 ล้านบาท เป็นเทรดิชั่นนอลเทรด 55% โมเดิร์นเทรด 45% โดยจนถึงเดือนมิถุนายน เทรดิชั่นนอลเทรดมีการเติบโต 3% โมเดิร์นเทรดเติบโต 6-7% ไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ในซูเปอร์มาร์เก็ต

Analyze:  

ซีพีแตกไลน์สาขาใหม่จากเดิมที่มีโมเดลค้าปลีกขนาดเล็กอยู่แล้วอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นและซีพี เฟรชมาร์ท โดยการขยายธุรกิจ ซีพีฟู้ด มาร์เก๊ต โดยจะเน้นที่กลุ่มสินค้าอาหารสด และมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม อาศัยคอนเซ็ปต์ “fresh full fun fast” เน้นที่จุดขายความสดใหม่ ครบครัน สะดวก และจับจ่ายเลือกซื้อด้วยความสนุกสนาน  ซึ่งมีการตั้งทีมงานเพื่อดูแลธุรกิจนี้โดยเฉพาะ โดยรูปแบบร้านจะเน้นสไตล์ญี่ปุ่นลักษณะใกล้เคียงกับวิลล่า ซึ่งจะมีอาหารพร้อมปรุง อาหารสด อาหารพร้อมรับประทานต่างๆ ซึ่งจะสร้างทางเลือกใหม่ๆให้กับผู้บริโภคและเกิดความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย ซึ่งจะเปิดสาขานำร่องก่อนที่อาคารซีพี ทาวเวอร์3 ซึ่งเป็นแหล่งธึรกิจที่มีกลุ่มคนวัยทำงานอยู่หนาแน่น

การเข้าซื้อกิจการสาขาคาร์ฟูร์ในไทยทำให้โมเดิร์นเทรดรายใหญ๋อย่างบิ๊กซี เตรียมใช้สาขาเหล่านี้เป็นช่องทางในการขยายโมเดลธุรกิจใหม่ ในชื่อ “เอ็กซ์ตร้า” และล่าสุดได้เปิดโมเดลค้าส่งในชื่อ “บิ๊กซี จัมโบ้” โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกับลูกค้าของ “สยาม แม็คโคร” คู่แข่งเบอร์หนึ่ง โดยกลยุทธ์ของบิ๊กซี จะเป็นการรีโนเวตสาขาเดิมของคาร์ฟูร์ มากกว่าการเปิดสาขาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนของบิ๊กซีและคาร์ฟูร์ และปัญหาในการหาพื้นที่ในการขยายสาขาที่ยากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากติดในเรื่องของกฎหมายผังเมือง ทั้งนี้บิ๊กซีจะเน้นกลยุทธ์ไปที่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครบทุกกลุ่ม และสนองต่อลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าเป็นลอตใหญ่ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่ต้องการซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าและคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้บิ๊กซียังจะได้ประโยชน์ในการมีช่องทางในการระบายสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นจากโมเดลธุรกิจนี้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับซัพพลายเออร์อีกด้วย

Posted by: เอกราช ใจซื่อ 5220224039


Actions

Information

Leave a comment